เบื้องหลังการบริหาร Netflix เมื่อ ‘ซีอีโอ 2 คน’ ผนึกกำลังพาบริษัททำรายได้เกือบหมื่นล้าน

ผู้นำหลายคนจะช่วยกันดูแลบริษัทมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้อย่างไร? Greg Peters และ Ted Sarandos สองซีอีโอร่วมแห่ง Netflix มั่นใจว่าพวกเขาเข้าใจแนวทางการบริหารงานเช่นนี้อย่างทะลุปรุโปร่ง


    เมื่อเร็วๆ นี้ Greg Peters เผยกับสื่อด้านเทคโนโลยี The Verge เกี่ยวกับการมีซีอีโอ 2 คนว่าเป็น “โมเดลที่ทรงพลังเหลือเชื่อ” แถมยังไปได้สวยและเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นความโปร่งใส โดยทั้งสองต่างก็เต็มใจจะ “พูดคุยกันอย่างซื่อสัตย์ ไม่เห็นแก่ตัว และคำนึงถึงผลประโยชน์ของบริษัทก่อนเป็นอันดับแรก”

    การมีผู้นำสองคนไม่ใช่เรื่องที่พบเจอได้ทั่วไปิ แต่ก็มีตัวอย่างจากที่หลายๆ บริษัทเคยทดลองทำกันมาก่อน เช่น Blackberry, Deutsche Bank, Chitople และ SAP ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จมากน้อยต่างกัน

    Peters บอกว่า เขากับ Ted Sarandos ได้ลองศึกษากรณีต่างๆ ในอดีต และพบว่าประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทที่มีซีอีโอร่วมนั้นมี 2 แบบ คือเป็นไปได้ว่าอาจต่ำกว่าคู่แข่งหรือไม่ก็สูงกว่าคู่แข่ง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การมีซีอีโอร่วมประสบความสำเร็จคือตัวซีอีโอต้องเชื่อมั่นและมองว่าโมเดลนี้มีประโยชน์ อย่ามองว่าเป็นเงื่อนไขหรืออุปสรรค


Greg Peters และ Ted Sarandos


    สำหรับ Netflix การมีซีอีโอสองคนที่ทำงานเข้าขากันได้ดีช่วยให้การตัดสินใจต่างๆ เป็นไปได้อย่างเฉียบคมและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะผู้บริหารในระดับต่ำกว่าซีอีโอจะรายงานเรื่องต่างๆ แก่ทั้ง Peters และ Sarandos โดยที่พวกเขาสองคนจะมีความรับผิดชอบหลักคนละด้าน Peters จะดูแลเรื่องผลิตภัณฑ์ โฆษณา เกม และการเงิน ส่วน Sarandos ดูแลด้านเนื้อหา การตลาด กฎหมาย และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ แต่พอเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่เช่นเรื่องของกลยุทธ์ พวกเขาจะผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกัน

    “เราย้ำเสมอครับว่า คุยกับเราคนใดคนหนึ่งก็เหมือนคุยกับเราทั้งสองคน เราต่างก็รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบถึงความชัดเจนและความโปร่งใสของอีกคนหนึ่งในบทสนทนาเหล่านั้น” Peters อธิบาย

    เมื่อโครงสร้างองค์กรที่มีซีอีโอร่วมถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในเดือนมกราคมปี 2023 หลังอดีตผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอคนเก่าของ Netflix อย่าง Reed Hastings ก้าวลงจากตำแหน่ง สองผู้นำคนใหม่ต่างก็จับเ��่าคุยกันทันทีว่าจะทำอย่างไรหากพวกเขามีความคิดเห็นไม่ตรงกัน


Reed Hastings


    “เราไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่าย เราเถียงกัน เราแลกเปลี่ยนความคิดกัน” Sarandos เผยกับ Bloomberg ในตอนนั้น “ทั้ง Reed กับผม และ Greg กับ Reed เรามีจุดแข็งกันคนละอย่าง เราสามารถท้าทายกัน แต่ก็ยังเคารพทักษะที่แตกต่างของกันและกันได้”

    และหากพวกเขาต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม พวกเขาก็สามารถปรึกษากับ Hastings ที่ยังคงเป็นประธานกรรมการบริษัทได้ โดยตัว Hastings พูดเองว่าแม้ไม่ได้ดำรงตำแหน่งซีอีโอแล้ว เขาก็ยังคงมีส่วนร่วมเพื่อคอยแบ่งปันคำปรึกษาและมุมมองแก่สองซีอีโอคนปัจจุบันเมื่อพวกเขามีความคิดเห็นขัดแย้งกัน

    อีกทั้ง การร่วมมือกันของ Peters และ Sarandos ดูท่าจะไปได้สวยทีเดียว เพราะผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2024 แพลตฟอร์มสตรีมมิงชั้นนำรายนี้ก็ทำรายได้กว่า 9.37 พันล้านเหรียญ และยอดสมาชิกก็เติบโตสูงกว่าที่ Wall Street คาดการณ์ไว้ถึงสองเท่า


แปลและเรียบเรียงจาก Netflix Is the Rare Company With 2 CEOs. So What Happens When They Disagree?

ภาพ: Netflix และ AFP


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “จงสั่งสมความเห็นต่าง” แนวคิดสู่การตัดสินใจ ฉบับ Reed Hastings แห่ง Netflix

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine